3 ทักษะพื้นฐาน การทำงานวิจัยแบบมืออาชีพ!
เพราะทักษะในการทำงานวิจัยไม่ได้มีมาตั้งแต่เกิด บททความนี้ จะแนะนำ 3 ทักษะพื้นฐานในการพัฒนาทักษะการทำงานวิจัยให้คุณประสบความสำเร็จในการทำงานวิจัยแบบมืออาชีพ
“Reading” ทักษะการอ่านที่ดี
การอ่านจะเป็นตัวช่วยให้คุณสามารถเก็บรวบรวมข้อมูลที่สำคัญสำหรับการทำวิจัยได้ และการอ่านยังสามารถช่วยให้คุณมีการคิดวิเคราะห์ต่อยอด รวมถึงช่วยให้คุณสามารถนำข้อมูลต่างๆ ที่ได้อ่านมาแล้ว เพื่อใช้ในการตั้งหัวข้องานวิจัย หรือทำประเด็นในการตั้งคำถามสำหรับงานวิจัยของคุณได้
การฝึกทักษะการอ่าน แน่นอนว่าการอ่านสำหรับการทำวิจัยนั้น จะต้องไม่ใช่การอ่านเพื่อการจับใจความเท่านั้น แต่คุณจะต้องมีการตั้งสมาธิที่ดี มีความมุ่งมั่นและจดจ่อกับงานที่อ่าน เพื่องานศึกษาและวิเคราะห์เนื้อหาที่คุณจะสามารถนำมาใช้อ้างอิงในงานวิจัยของคุณได้
รวมถึงคุณจะต้องฝึกฝนการอ่านแบบสังเคราะห์ ที่จะช่วยให้คุณสามารถทำการวิเคราะห์เนื้อหาที่อ่าน และทำการเปรียบเทียบผลงานการวิจัยที่ใช้อ้างอิงจากหลายๆ แหล่ง เพื่อที่คุณจะสามารถทำมาใช้ต่อยอดในกับงานวิจัยของคุณ
“Analysis” ทักษะการวิเคราะห์ที่ดี
นอกจากคุณต้องใช้ทักษะในการอ่านแบบสังเคราะห์แล้ว คุณจะต้องฝึกฝนทักษะในการวิเคราะห์ด้วย เพราะงานวิจัยส่วนใหญ่มักเกิดจากการนำผลงานการวิจัยเก่าๆ มาต่อยอด หรือเป็นการทำวิจัยเพื่อหาคำถามที่ยังไม่มีใครตอบ
ซึ่งการคิดวิเคราะห์ หมายถึง การคิดแบบรอบด้าน เพื่อมุ่งเน้นการจับประเด็นสำคัญ ที่คุณอาจจะเริ่มด้วยการลองตั้งคำถามจากบทสรุปของงานวิจัยที่คุณอ่าน จากนั้นใช้ “ตรรกะ” ในการหาเหตุผลเพื่อมาสนับสนุน หรือหาข้อโต้แย้งแบบมีหลักการและมีหลักฐานมาสนับสนุนอย่างชัดเจน
สุดท้ายคุณจะต้องมีการคิดวิเคราะห์ที่สอดคล้องกับหลักการทางวิทยาศาสตร์ ที่เป็นการคิดสำหรับการแก้ปัญหา ตีความ ที่สามารถใช้เชื่อมโยงและตอบสนองให้กับงานวิจัยของคุณได้
“Writing” ทักษะการเขียนที่ดี
สิ่งที่สำคัญที่สุดใน การเขียน คือ จะต้องเขียนโดยต้องคำนึงถึงความเข้าใจของผู้อ่านเป็นสำคัญ
ซึ่งการทำงานวิจัยแบบมืออาชีพ จะต้องมีการเขียนเนื้อหาวิจัยที่ชัดเจน ไม่ออกนอกประเด็น และจะต้องเขียนเนื้อหาให้อยู่ในกรอบความคิดของงานวิจัย รวมถึงจะต้องสามารถอ่านเข้าใจได้ง่าย ต้องมุ่งไปที่ความน่าเชื่อถือในเนื้อหามากกว่าการเขียนแบบไพเราะ
การเขียนงานวิจัยสามารถทำได้หลายแบบ ที่คุณจะต้องเลือกใช้ให้เหมาะสมในแต่ละส่วนของงานวิจัยของคุณด้วย เช่น คุณควรจะเลือกเทคนิคการเขียนแบบพรรณนา หากต้องการอธิบายเนื้อหาต่างๆ เลือกการเขียนแบบเป็นเหตุเป็นผล หากคุณต้องการโน้มน้าวให้ผู้อ่านเห็นด้วยกับแนวคิดของคุณ หรือเลือกการเขียนแบบสรุป หากคุณต้องการวิเคราะห์ หรือสรุปเนื้อหางานวิจัยของคุณ เป็นต้น
ซึ่งนอกจากการฝึกฝนทักษะทั้ง 3 อย่างนี้อย่างสม่ำเสมอแล้ว สิ่งที่สำคัญที่สุดในการทำงานวิจัยแบบมืออาชีพ คือ คุณจะต้องมีความซื่อตรง และมีความรับผิดชอบต่อผลงานของคุณด้วย